พัฒนาการทางร่างกายและการส่งเสริม

พัฒนาการทางร่างกาย ของเด็กปฐมวัย หรือวัย 3-4 ปี จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องส่วนสูงและน้ำหนัก สำหรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการเจริญเติบโตของกระดูกและกล้ามเนื้อที่มากขึ้น ทำให้สามารถควบคุมกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวและการทรงตัวได้ดี เด็กๆ มักจะวิ่ง กระโดด และไม่หยุดอยู่นิ่งๆ จึงพร้อมจะทำกิจกรรมเกี่ยวกับการออกกำลังได้มากขึ้น รวมไปถึงการใช้มือหยิบจับสิ่งของ และการช่วยเหลือตนเองของเด็ก ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ 

 

พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เด็กอายุ 3 - 4 ปี

  • ยืนขาเดียว กระโดดขาเดียว กระโดดได้สูง และไกล
  • เขย่งปลายเท้า เดินเขย่งปลายเท้าได้ไกล และวิ่งเขย่งปลายเท้าได้
  • เดินถอยหน้า ถอยหลัง และไปข้างๆ ได้
  • เดินขึ้น - ลงบันไดได้ดี
  • เดินเลี้ยงตัวบนไม้กระดานแผ่นเดียว และเดินทรงตัวบนพื้นเอียงๆ ได้ดี
  • จับ โยน รับลูกบอลได้ จะแม่นยำขึ้นตามพัฒนาการ และขว้างลูกบอกได้ไกล
  • ปีนป่ายบันไดและเล่นเครื่องเล่นกลางแจ้ง
  • วิ่งหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้
  • วิ่งไปเตะลูกบอลได้โดยไม่ต้องหยุดเล็ง
  • ถีบจักรยาน 3 ล้อ และหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้
  • ก้มตัวเอามือแตะเท้าโดยไม่งอเข่า 

พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เด็กอายุ 3 - 4 ปี

  • วาดรูปสี่เหลี่ยมตามแบบได้ พออายุได้ 3 ปีครึ่ง จะหัดลากเส้นต่อเป็นสี่เหลี่ยม หรือวาดวงกลม
  • จับดินสอได้ดี เลือกใช้มือที่ถนัดวาดรูป
  • ต่อแท่งบล็อกได้สูง 9-10 ชิ้น
  • ใช้กรรไกรตัดกระดาษได้
  • ร้อยลูกปัดขนาดเล็กได้
  • แต่งตัวเอง หวี ผม แปรงฟันได้เอง และช่วยทำงานเล็กๆ น้อยๆ ได้
  • กล้ามเนื้อบางส่วนกระตุก เช่น ริมฝีปาก หนังตา แต่จะค่อยๆ หายไปเอง
  • ชอบกระพริบตา เพราะมีการปรับระบบประสาทตา

การส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกายของเด็กวัย 3-4 ปี

พ่อแม่และคนในครอบครัว ควรทำกิจกรรมหลายๆ อย่างไปพร้อมกับเด็ก เพื่อคอยกระตุ้นพัฒนาการและทักษะในด้านต่างๆ เพื่อคอยช่วยเหลือเด็กๆ หากเกิดอุปสรรค หรือปัญหา อันจะเป็นเหตุให้พัฒนาการด้านต่างๆ ลดลง หรือ ถ้ามีผู้ใหญ่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด อุบัติเหตุจากการเล่นก็จะลดลงด้วย


สุขภาพฟันของเด็กวัย 3-4 ปี

  • เมื่อเด็กอายุ 2 ปี 6 เดือน จะมีฟันน้ำนมขึ้นจนครบ 20 ซี่
  • พออายุได้ 3 – 4 ปี ฟันน้ำนมในเด็กบางคนจะเริ่มหลุด และจะมีฟันแท้ขึ้นมาแทน

ทำความสะอาดด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำสะอาด หรือใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม เพื่อช่วยดูแลสุขภาพฟันของเด็ก

 

การส่งเสริมพัฒนาการของฟันเด็กวัย 3-4 ปี

พ่อแม่หรือคนในครอบครัวทำความสะอาดในช่องปากและฟันให้กับเด็ก เพราะเด็กยังทำเองไม่ได้ จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กรักษาความสะอาดในช่องปาก


พัฒนาการทางภาษาและการส่งเสริม

เด็กในช่วงปฐมวัย หรือวัย 3-4 ปี ถือเป็นช่วงตกผลึกทางภาษา เด็กจะมีพัฒนาการดีในด้านการใช้ภาษา เรียนรู้คำใหม่ๆ ได้มากขึ้น ออกเสียงได้สมบูรณ์ ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีการใช้ภาษาได้ถูกต้อง และมักจะชอบถามคำถามถึงสิ่งต่างๆ รอบตัว เด็กในช่วงอายุ 3-4 ปี จะอยู่ในระยะขยาย (The Stage of Expansion) จะเริ่มหัดพูดเป็นคำๆ ระยะแรกจะเป็นการพูดโดยเรียกชื่อคำนาม เรียกชื่อคนที่อยู่รอบข้าง สิ่งของต่างๆ ที่อยู่รอบตัว รวมทั้งคำคุณศัพท์ที่เด็กได้ยินผู้ใหญ่พูดกัน เด็กวัยนี้มีความสนใจสิ่งแวดลอมรอบๆ ตัว เช่น คน สัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติ ของเล่น ชอบฟงคำพูดซ้ำๆ สั้นๆ คําคลองจอง ชอบฟงนิทานสั้นๆ ดูการตูน ชอบดูรูป สี ดูตัวหนังสือนอย ดูรูปมาก แต่เด็กวัยนี้จะมีความสนใจในระยะสั้นมาก ประมาณ 5–10 นาที

 

พัฒนาการทางภาษา เด็กอายุ 3 - 4 ปี

  • ช่างพูดจา มีเหตุมีผล
  • ชอบใช้คำถามว่า อะไร อย่างไร ทำไม เมื่อไร
  • เข้าใจภาษาพูดง่ายๆ ของผู้ใหญ่ แต่จะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่มองเห็น ยังไม่เข้าใจความหมาย คำสั่งหรือคำขอร้องจากผู้ใหญ่
  • พัฒนาการทางภาษาเจริญเร็วมาก จะตั้งคำศัพท์ใหม่ๆ หรือเรียกชื่อสิ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนได้ เด็กบางคนจะคิดคำพูด
  • สร้างท่วงทำนองการพูด และทำเสียงแปลกๆ และชอบใช้คำว่า “สมมติว่า...”
  • รู้จักและเข้าใจคำศัพท์ เช่น คำบอกตำแหน่ง คำบอกกาลเวลา คำบอกความรู้สึกและความคิดที่เป็นนามธรรมได้ เช่น ดี เหนื่อย หนาว ร้อน อุ่น และรู้จักการปฏิเสธ
  • จะรู้จักนำเอาคำศัพท์มาเรียงเป็นคำพูด และจะพูดได้ยาวขึ้น มีกฏเกณฑ์ทางไวยากรณ์มากขึ้น เรียงประโยคได้ถูกต้อง
  • บางคนที่เคยพูดช้าหรือไม่ค่อยพูดตอนอายุ 2 ปี จะพูดเยอะมาก กลับกันบางคนอาจจะพูดติดอ่าง
  • เด็กจะเริ่มหัดอ่าน ยังไม่มีอารมณ์ร่วม และยังอ่านเรื่องตลกไม่เข้าใจ
 

 

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของเด็กวัย 3-4 ปี

  • เด็กมักสงสัยและมีคำถามมากมาย ควรตอบคำถาม ด้วยคำตอบง่ายๆ สั้นๆ และใช้ภาษาที่ถูกต้อง
  • อ่านหนังสือให้เด็กฟัง และใช้หนังสือภาพ (Picture books) มาประกอบการเล่าเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น และกระตุ้นให้เด็กใฝ่รู้มากขึ้น
  • อ่านบทอาขยานสั้นๆ ง่ายๆ หรือคำคล้องจอง จะช่วยให้เด็กเรียนรู้พื้นฐานของระบบเสียงที่เกี่ยวข้องกับการอ่านได้ง่ายขึ้น
  • สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เรื่องลำดับก่อนหลัง สิ่งที่เป็นนามธรรม ได้แก่ สี ขนาด จำนวน เป็นต้น
  • สอนให้เด็กรู้จักคำศัพท์หรือคำพูดที่บอกอารมณ์ความรู้สึกทั้งของตนเองและผู้อื่น เช่น ถ้าเด็กรู้สึกโกรธ เมื่อถูกแย่งของเล่น ควรสอนให้เด็กเข้าใจว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นคือ อารมณ์โกรธ โดยพูดว่า “หนูรู้สึกโกรธที่ถูกแย่งของเล่น”
  • เมื่อเด็กพูดคำหยาบ ไม่ควรดุหรือลงโทษ เพราะเด็กยังไม่เข้าใจความหมายของคำหยาบ ควรสอนให้ใช้คำอื่นแทน

 


พัฒนาการทางสติปัญญาและการส่งเสริม

เด็กปฐมวัย หรือวัย 3-4 ปี สามารถพัฒนาความสามารถทางสติปัญญาให้เพิ่มมากขึ้นด้วยการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดกิจกรรมที่เหมาะสม เด็กจะเรียนรู้ด้านคำศัพท์และภาษามากขึ้น ช่างซักถาม อยากรู้อยากเห็น เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการกระทำและการใช้ประสาทสัมผัสของเด็กเอง คือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง มีความคิดและเหตุผล ที่ยังไม่สมบูรณ์

ดังนั้นเด็กต้องเรียนรู้จากของจริง โดยพ่อแม่ คนในครอบครัวหรือผู้เลี้ยงดู ต้องพยายามให้เด็กได้ลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้เด็กพัฒนาการคิดและการแก้ปัญหา

 

พัฒนาการทางสติปัญญาของ เด็กอายุ 3 - 4 ปี

  • บอกรูปร่าง สี และขนาดได้
  • จับคู่ภาพต่างๆ และแบ่งกลุ่มได้สำเร็จ
  • อธิบายรูปภาพต่างๆ ในหนังสือได้
  • เข้าใจตำแหน่ง เช่น บน ล่าง รู้จักเวลา เมื่อวานนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ และเข้าใจคำว่า “ที่สุด”
  • บอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้
  • ชอบตั้งคำถามตลอดเวลา
  • ปั้นดินเหนียว ดินน้ำมันได้
  • ใช้สายตาติดตามวัตถุที่เคลื่อนไหวได้โดยไม่เสียสมาธิ
  • รู้ถึงความแตกต่างระหว่างชายหญิง สนใจร่างกายของตัวเอง รู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น และรู้ว่าร่างกายมีสองข้าง แต่ยังบอกไม่ได้ว่าข้างไหนขวาหรือซ้าย
  • จะค้นพบว่าสิ่งต่างๆ มีความสัมพันธ์กัน และพยายามควบคุมโลกของตัวเอง จะมีความคิดซับซ้อนขึ้น สนุกกับจินตนาการ เพ้อฝัน จนคิดหรือผูกเรื่องราวต่างๆได้ฉับพลัน คิดเรื่องยาวๆ และเล่าเรื่องได้
  • ชอบการเล่นบทบาทสมมติ การเล่นอาจมีเนื้อหารุนแรง เพื่อจัดการกับความก้าวร้าวรุนแรงภายในของตนเอง ไม่ใช่ลักษณะที่ผิดปกติ หรือไม่ได้แสดงว่าเด็กมีความก้าวร้าวแต่อย่างใด

 

การส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กวัย 3 – 4 ปี

  • หัดให้เด็กพยายามหาวิธีใส่รองเท้าด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหา ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
  • ถามคำถามกับเด็ก เพื่อให้เด็กรู้จักคิดหาคำตอบด้วยตัวเอง ไม่เน้นถูกหรือผิด แต่เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักคิด
  • ส่งเสริมการเล่นตามจินตนาการ และการเล่นบทบาทสมมติ ให้เด็กได้เล่นตามจินตนาการที่มีเนื้อหารุนแรง เพื่อขจัดความก้าวร้าวรุนแรงภายในของตนเอง
  • ควบคุมและจำกัดการดูรายการโทรทัศน์ วีดีโอ การเล่นคอมพิวเตอร์ หรือเล่นมือถือ เพราะสิ่งเหล่านี้จะไปขวางการพัฒนาทักษะการพัฒนาจินตนาการของเด็ก
  • เด็กวัยนี้อาจพูดคุยกับตัวเอง หรือพูดติดขัด อันเป็นพัฒนาการปกติตามวัย ควรสนใจพูดคุยและฟังเด็กพูดอย่างตั้งใจ แต่ไม่ควรจับผิด หรือแก้ไขคำพูดของเด็กตลอดเวลา
  • ควรใช้เวลาอ่านหนังสือกับเด็ก ช่วยให้พัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหา รู้จักผลของการกระทำ รู้จักลักษณะบุคลิกภาพแบบต่างๆ และการเรียงลำดับเหตุการณ์ ขณะอ่านควรถามคำถามเป็นระยะ ให้เด็กคิด เช่น “ทายซิว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป”

 


พัฒนาการทางสังคมและการส่งเสริม

เด็กวัย 3- 4 ปี อยู่ในวัยที่เริ่มออกนอกบ้าน เรียนรู้ที่จะมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยเฉพาะกับเด็กวัยเดียวกัน เพราะเมื่อถึงวัยนี้ เด็กๆ จะต้องออกไปอยู่ที่ศูนย์ดูแลเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ทำให้เด็กต้องพบกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่หรือคนในครอบครัว ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีพฤติกรรมการเข้าสังคมและการเล่นที่ต่างกันออกไป

  • เล่นคนเดียว : จะเล่นกับของเล่นโดยไม่สนใจเด็กที่เล่นอยู่ใกล้เคียง
  • เฝ้ามองดูการเล่นของเพื่อน : อาจจะพูดคุย ถามคำถาม แนะนำ แต่ไม่เล่นร่วมกับเพื่อน
  • เล่นแบบขนาน : อาจจะสนใจเล่นด้วยกัน และช่วยในการทำกิจกรรมต่างๆ

เด็กวัยนี้ บางคนไม่สามารถเข้าสังคมได้ เป็นเพราะอยู่ในภาวะ เก็บตัว เพราะขาดพื้นฐานทางด้านสังคม หรือประสบความล้มเหลวในการเข้ากลุ่ม จึงหาทางออกให้ตนเองด้วยการอยู่คนเดียว หรือเด็กบางคนอยู่ในภาวะขี้อาย อาจเกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง หรือไม่ก็ขาดความไว้วางใจในสังคม จนเป็นเหตุให้เข้ากลุ่มเพื่อนไม่ได้และ “สมอง” ของเด็กเองก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะเมื่อสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe)ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ก็จะมีผลต่อพัฒนาการทางสังคมของเด็กด้วย

 

 

พัฒนาการทางสังคมของ เด็กอายุ 3 – 4 ปี

  • ชอบเข้ากลุ่ม มีท่าทีเป็นมิตร รู้จักผ่อนปรน รู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง แต่ยังไม่เข้าใจแท้จริงถึงการร่วมมือช่วยเหลือกัน
  • อยากมีเพื่อน จนบางครั้งยอมเป็นลูกไล่ให้เด็กโตหรือยอมเข้ากลุ่มเด็กที่เล็กกว่า
  • ถ้าเข้ากลุ่มไม่ได้จะหาวิธีใหม่ๆ เช่น บางคนแสดงท่าทางตลก เพื่อนจะได้ชอบใจและยอมรับเข้ากลุ่ม
  • มักเปลี่ยนเพื่อนเล่นบ่อย เลือกเพื่อนเล่นเป็นเพศตรงข้ามมากกว่าจะเล่นกับเพศเดียวกัน และคนที่เหนืออกว่าคนอื่นมักจะได้เป็นหัวหน้า
  • มีพัฒนาการทางภาษาและสมอง ทำให้รู้จักคำศัพท์มากขึ้น จะพูดชักชวนหรือกีดกันเพื่อนให้เล่นด้วยกัน แต่จะเล่นกับเพศตรงข้ามได้ไม่นาน การทะเลาะกันเป็นเรื่องธรรมดา โกรธง่ายหายเร็ว ไม่เก็บความโกรธเอาไว้ในใจเลย
  • แสดงความรักชอบพอกับผู้ใหญ่และเพื่อนๆ
  • สังเกตเห็นว่าหญิงชายมีลักษณะและท่าทางที่ต่างกัน พ่อจะเป็นแบบอย่างของผู้ชาย และแม่เป็นแบบอย่างของผู้หญิง
  • เชื่อฟังมากขึ้น
  • รู้จักเก็บของเล่น

การส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมของเด็กวัย 3-4 ปี

  • สร้างบรรยากาศสบายๆ เพื่อพาเด็กเข้าสังคม
  • รู้ความรู้สึกที่แท้จริงของเด็ก และช่วยกระตุ้นให้เข้ากลุ่มเพื่อน ให้เด็กรู้สึกว่า การเข้าสังคมไม่ใช่เรื่องยาก หรือน่ากลัว
  • เด็กบางคนอาจชอบเล่นคนเดียว หรืออาจจะเล่นกับพี่น้อง ผู้ใหญ่หรือกลุ่มเพื่อนได้บ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา
  • เด็กบางคน ตอนเล็กๆ อาจจะขี้อาย แต่ก็จะค่อยๆ ปรับตัว ถ้ามีโอกาสได้อยู่ใกล้หรือได้เล่นกับเด็กอื่นบ่อยๆ
  • แนะนำให้เด็กเล่นอย่างเหมาะสม โดยพ่อแม่หรือสมาชิกในครอบครัวแสดงบทบาทการเล่นที่เหมาะสม
  • อย่าทำให้เด็กอายมากขึ้น ด้วยการพยายามลุ้นให้เข้าหาคนอื่น หรือพูดจาดุว่า ให้เขารู้สึกอึดอัดเป็นเป้าสายตา
  • ให้เด็กแสดงความสามารถ ได้คิดอะไรด้วยตัวเอง ต้องไม่คาดหวังให้เด็กดีเลิศไปทั้งหมด ไม่จ้ำจี้จ้ำไชหรือวิพากษ์วิจารณ์เวลาที่เด็กทำไม่ได้ และสนับสนุนให้ลองทำใหม่ หากทำครั้งแรกไม่สำเร็จ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง
  • จัดตารางกิจวัตรประจำวันของเด็กให้แน่นอน โดยเฉพาะกิจวัตรพื้นฐาน เช่น เวลาตื่นนอน เวลารับประทานอาหาร และเวลาเข้านอน เป็นต้น
  • ควบคุมและจำกัดการดูรายการโทรทัศน์ วีดีโอ การเล่นคอมพิวเตอร์ หรือการเล่นมือถือ เพราะสิ่งเหล่านี้จะขัดขวางการพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็ก
  • ให้เวลาพูดคุยกับเด็กในช่วงวัยนี้เด็กให้มากพอ เพื่อคอยเป็นผู้ช่วยและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเด็ก
  • ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก ในทุกๆ เรื่อง เพราะเด็กจะเลียนแบบ
  • ฝึกมารยาท และสร้างระเบียบวินัย โดยให้เด็กรู้จักและทำตามกฎ กติกาหรือข้อตกลงภายในบ้าน
  • เล่นบทบาทสมมติกับเด็ก ในรูปแบบต่างๆ ที่จะเจอในชีวิตประจำวันเพื่อฝึกหัดก่อนที่เด็กจะได้เจอสถานการณ์จริง
  • ส่งเสริมบทบาททางเพศของเด็ก เช่น เด็กผู้หญิงเล่นแต่งตัว แต่งหน้าเลียนแบบแม่ ให้เด็กพูดถึงลักษณะเอกลักษณ์ของตัวเอง และแสดงออกด้วยท่าท่างและคำพูดว่าชื่นชมเด็กในแง่บวก
  • ควรสอนเด็กทั้งเพศชายและหญิงให้มีทั้งความเข้มแข็งและความอ่อนโยน
  • มอบหมายงานหรือให้เด็กช่วยเหลือตัวเองตามวัย ให้รางวัลเป็นชมเชยกับเด็ก เช่น ชมเชยเมื่อเด็กมีความพยายามทำงานจนสำเร็จ แม้ว่าผลงานจะไม่สมบูรณ์ก็ตาม
  • ไม่ควรลงโทษ เด็กโดยการให้เด็กช่วยทำงานบ้าน แต่ควรมอบหมายให้ทำงานบ้าน โดยเลือกให้เหมาะสมกับวัย

 


พัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจและการส่งเสริม

เด็กอายุ 3 – 4 ปี จะมีพัฒนาการทางอารมณ์มากขึ้น เพราะมีพัฒนาการด้านร่างกาย ทำให้เด็กสามารถแสดงความต้องการของตนได้มากขึ้น เด็กอาจมีความกระวนกระวายใจ ไม่มั่นใจ เอาแต่ใจตนเอง และมักแสดงออกชัดเจน เช่น พูดติดอ่าง เสียงสั่น ดูดนิ้วมือ แคะจมูก กัดเล็บ หรือแสดงอาการไม่พอใจเมื่อถูกห้าม ร้องไห้เสียงดัง ขว้างปาสิ่งของ เป็นต้น ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่แล้วหายไป เพราะเด็กวัยนี้มีช่วงความสนใจสั้น

นอกจากนี้ ความพร้อมของพัฒนาการทางร่างกาย ก็เป็นสาเหตุหลักด้วย เพราะเด็กในวัยก่อนอายุ 4 ปี จะซน ดื้อ และเจ้าอารมณ์ เพราะสมองส่วนหน้า ส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และการยับยั้งชั่งใจ ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์แต่เมื่อเด็กโตขึ้นความรุนแรงของอารมณ์ที่แสดงออกจะลดลงตามวัย ซึ่งพ่อแม่และคนในครอบครัวจะผู้ช่วยที่ดีที่สุด ให้เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจไปในทิศทางที่ดี

อารมณ์ต่างๆ ที่เด็กวัยนี้แสดงออก มาจากความรู้สึกต่างๆ ดังนี้

  • ความโกรธ เป็นอารมณ์ธรรมดาที่สุดของเด็กวัยนี้ มักแสดงออกด้วยการทุบตี กัด ข่วน หรือพูดคำแสดงความโกรธ เมื่อแย่งของเล่นกับเพื่อน หรือ ถูกขัดใจ เป็นต้น
  • ความกลัว กลัวโดยไม่มีเหตุผล เพราะมีจินตนาการสูง ความกลัวมักเกิดจากความคิดของเด็กเอง แสดงอาการหวาดกลัว เช่น ร้องไห้ วิ่งหนี หรือหลบซ่อน เป็นต้น
  • ความอิจฉา เกิดจากกลัวการสูญเสียสิ่งที่ตนเองรัก หรือสูญเสียความเป็นเจ้าของ จะแสดงออกเหมือนอารมณ์โกรธ แต่ก้าวร้าวกว่า หรือเรียกร้องความสนใจแบบเด็กเล็กๆ เป็นต้น
  • ความสนุกสนาน เกิดจากอารมณ์ที่เป็นสุข หรือประสบความสำเร็จในกิจกรรมต่างๆ เด็กจะ ยิ้ม หัวเราะ ตบมือ แสดงความดีใจ หรือกอดรัดบุคคลที่ทำให้ตนมีความสุข
  • ความเศร้าเสียใจ เกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกสูญเสียสิ่งที่รัก หรือสิ่งที่คิดว่ามีความสำคัญ แสดงออกด้วยการ ร้องไห้ เศร้าซึม ไม่ยอมรับประทานอาหาร เป็นต้น
  • ความรัก อารมณ์นี้เกิดเมื่อมีเด็กความสุข แสดงออกด้วยการกอด ยิ้ม หัวเราะ หรืออยากอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลหรือสิ่งของที่รัก

 

พัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจของ เด็กอายุ 3 - 4 ปี

  • สนใจท่าทางการแสดงออก
  • สนใจเด็กเล็กกว่า อยากมีน้อง
  • เริ่มฝันร้าย และฝันร้ายบ่อยขึ้น
  • มีหลายอารมณ์ความรู้สึก
  • มีความกลัวจากจินตนาการที่สร้างขึ้น คนหรือสัตว์ที่มีหน้าตาแปลกผิดธรรมดา จะทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายใจ
  • ขี้โมโห อิจฉาเป็น แข่งขัน แย่งชิงความรักความสนใจจากพ่อแม่
  • แสดงออกถึงความรักอย่างเด่นชัด เช่น หวงพ่อแม่ ต่อต้านอำนาจของแม่ แต่ก็จะแสดงความรักต่อพ่อแม่อย่างเปิดเผยทั้งคำพูดและท่าทาง
  • จะพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่ เพราะอยากให้มีคนรักและยอมรับตัวเอง
  • เล่นสมมติเพื่อให้เกิดความพึงพอใจในตนเอง เป็นการวางรากฐานทางอารมณ์และพัฒนาความคิดให้กว้างไกล และถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อมั่นในตนเอง
  • การเล่นเป็นเครื่องมือช่วยปลดเปลื้องและผ่อนคลายอารมณ์ แม้จะเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น แต่จะชอบนั่งเล่นอยู่กับที่ มีความสุขกับการต่อภาพ เล่นโดมิโน่รูปภาพ จะวิ่งเล่นหรือเคลื่อนไหวได้เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น
  • จะมีอารมณ์สนุกสนาน เมื่อได้ของเล่นถูกใจ ได้เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน หรือกับผู้ใหญ่
  • ติดสิ่งของบางอย่าง เช่น ตุ๊กตา หมอน ผ้าห่ม เป็นต้น เพราะมีความสุข จึงแสดงออกด้วยความรัก
  • ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น
 

 

การส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจของเด็กวัย 3 -4 ปี

  • ให้ความเอาใจใส่ ใกล้ชิดเด็ก ให้มากๆ
  • แสดงออกซึ่งความรักที่มีต่อเด็กด้วยการกอด และถ้าเป็นเด็กผู้ชาย พ่อควรกอดลูก เพราะความใกล้ชิดและได้รับความอบอุ่นจากพ่อ จะช่วยพัฒนาความเป็นชายของเด็กได้ดีขึ้น
  • ไม่ควรพูดขู่เด็กว่าจะไม่รักหรือเอาไปทิ้ง
  • สอนให้เด็กรู้จักและเข้าใจอารมณ์ต่างๆ เช่น สอนเด็กว่า อารมณ์โกรธเป็นอารมณ์ตามธรรมชาติ แสดงออกได้ แต่ต้องไม่ทำร้ายร่างกายผู้อื่น
  • เด็กวัยนี้มีจินตนาการมาก อาจจะขยายให้จินตนาการให้น่ากลัวขึ้น จะต้องเข้าใจความกลัวของเด็ก ไม่ดุว่า และควรพูดคุย ถึงเรื่องที่เด็กกลัว เพื่อช่วยแบ่งปันอารมณ์ ความรู้สึก และหาทางช่วยเด็กแก้ไขปัญหา ควรเลือกรายการโทรทัศน์ที่เหมาะสมกับวัย หลีกเลี่ยงการดูรายการที่น่ากลัว รุนแรง หรือตื่นเต้นมากเกินไป
  • เตรียมตัวเด็กก่อนเผชิญเหตุการณ์แปลกใหม่ โดยเล่าคร่าวๆ ว่าจะไปทำอะไร หรือจะเจออะไรบ้าง เพื่อช่วยให้เด็กลดความกลัวหรือกังวลลงได้
  • เด็กที่ได้เล่นจะมีสุขภาพจิตดี สดใสร่าเริง เพราะการเล่นจะช่วยให้ผ่อนคลายอารมณ์ ควรปล่อยให้เด็กได้เล่นให้มาก ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ มีความคิดที่กว้างไกล เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และช่วยให้เกิดพัฒนาการทางสังคม
  • เมื่อเด็กแสดงความอิจฉา กลัวจะเสียของรัก จะต้องรีบแก้ไขด้วยการให้ความรัก ความอบอุ่น แสดงให้เด็กเห็นว่า เด็กมีความสำคัญและต้องให้ความยุติธรรมแก่เด็กทุกๆ คน
  • ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์ ช่วยให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว และแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสมกับวัย

สื่อการสอน